หลายคนที่เพิ่งอยู่ในวงการ นำเข้า-ส่งออก สินค้า มักจะมีข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วชิปปิ้งคืออะไร มีอาชีพอะไรและมีความสำคัญอย่างไรในการนำเข้าส่งออก วันนี้ JP CARGO SERVICE จะมาไขข้อสงสัยกับคำถามนี้กัน
ชิปปิ้งแท้จริงแล้วคืออาชีพอาชีพหนึ่ง อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้นำเข้าในการประกอบ ในการติดต่อกับกรมศุลกากร เมื่อสินค้านำเข้ามาสู่ประเทศไทย หรือติดต่อกับกรมศุลกากรเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรในการส่งออกสินค้าออกนอกประเทศ
ชิปปิ้งกับตัวแทนออกของเหมือนกันหรือไม่
ผู้อ่านหลายคนอาจจะสงสัยว่าชิปปิ้งกับตัวแทนออกของนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร JP CARGO SERVICE ขอเรียนว่า ชิปปิ้งกับตัวแทนออกของนั้นคืออาชีพเดียวกันคือมีหน้าที่ในการผ่านพิธีการศุลกากรให้กับลูกค้า ให้สามารถเคลียร์สินค้าออกมาได้อย่างราบรื่น และรวดเร็ว แต่สมัยก่อนเรามักจะเรียกอาชีพดังกล่าวว่า “ชิปปิ้ง” แต่หากเป็นทางการหรือตามประกาศต่างๆ ของกรมศุลกากรจะเรียนอาชีพดังกล่าวว่า “ตัวแทนออกของ” เมื่อรู้อย่างนี้แล้วผู้อ่านจะเรียกว่าชิปปิ้งหรือตัวแทนออกของก็ตามแต่สะดวกเลยครับ
ทำไมต้องมีชิปปิ้ง
ในความเป็นจริงผู้นำเข้าอาจจะดำเนินพิธีการทางศุลกากรได้ด้วยตนเอง แต่ในทางปฏิบัติผู้ที่จะดำเนินพิธีการทางศุลกากรนั้นจะต้องมีความรู้ที่หลากหลายและจะต้องมีความเชี่ยวชาญ เนื่องจาก
- จะต้องมีความรู้ว่าสินค้าที่นำเข้านั้นมีระเรียบ หรือข้อบังคับใดควบคุมการนำเข้าหรือส่งออกหรือไม่
- การจัดทำใบขนสินค้าเพื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบของกรมศุลกากรจะต้องมี Software เฉพาะ ซึ่งหากไม่มีจะไม่สามารถยิงใบขนสินค้าได้
- การตรวจปล่อยสินค้าจะต้องมีความรู้ในตัวสินค้า และรู้รายละเอียดของสินค้า เนื่องจากรายละเอียดของสินค้ามีผลต่อการจัดประเภทพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งหากสำแดงอัตราอากรต่ำกว่าความเป็นจริง อาจมีความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร และอาจจะมีค่าปรับได้
- ความรู้ในด้านพิธีการทางศุลการจะต้องมีการอัพเดทอยู่เสมอ ทั้งด้านพิกัดอัตราศุลกากร ระเบียบข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- หากทำผิดอาจเสียงต่อการถูกจับกุมและอาจเกิดค่าปรับ หรืออาจถูกยึดของได้
จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นว่าขั้นตอน วิธีการ ระเบียบข้อบังคับในทางกฎหมายศุลกากรนั้นมีค่อนข้างเยอะ ผู้ประกอบการหลายคนจึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการประกอบพิธีการทางศุลกากรด้วยตนเอง จึงหันมาใช้บริการชิปปิ้ง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีอาชีพชิปปิ้งหรือ ตัวแทนออกของเกิดขึ้นมา ซึ่งการจะมาเป็นชิปปิ้งหรือตัวแทนออกของนั้นไม่ใช่ว่ามาเป็นง่าย ๆ ต้องมีความรู้หลายอย่างทั้งเรื่อง พิกัดอัตราศุลกากร ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ อีกทั้งต้องมีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อกับการนำเข้า-ส่งออก เพื่อให้สามารถดำเนินพิธีการนำเข้าส่งออกของผู้ประกอบการมีความราบรื่นและไม่ติดขัด สำหรับบทความหน้าเราจะมาเรียนรู้กันว่าการเป็นชิปปิ้งต้องทำอะไรและดำเนินการอย่างไรบ้าง สำหรับบทความนี้ขอขอบพระคุณผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาด้วยกับ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนอย่าลืมกดแชร์บทความให้ด้วยนะครับ